หลายคนอาจยังไม่รู้..! ประเพณี “แซนโฎนตา” ถึงต้องมีข้าวต้มมัด

ข้าวต้มมัดสำคัญอย่างไรกับ ประเพณี “แซนโฎนตาเป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร

แซนโฎนตา เป็นประเพณีเซ่นไหว้ผีและบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร ซึ่งเป็นการรำลึกและอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีแซนโฎนตาเริ่มจัดตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 เรียกกันว่า “ไถงเบ็ณฑ์ตู๊จ หรือวันเบ็ณฑ์เล็ก หรือวันสารทเล็ก ถือว่าเป็นวันเริ่มงานวันแรก

 

ช่วงเวลาระหว่างนั้นภาษาท้องถิ่นสุรินทร์เรียกว่า “วันกันซ็อง(กันสงฆ์) หมายถึงการปรนนิบัติวัตถากต่อพระสงฆ์ จนกระทั่งถึงการทำบุญครั้งใหญ่ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เรียกว่า “ไถงเบ็ณฑ์ธม” หรือวันเบ็ณฑ์ธม” หรือวันเบ็ณฑ์ใหญ่ หรือวันสารทใหญ่ คำว่า “เบ็ณฑ์” ตรงกับภาษาไทยว่าบิณฑ แปลว่าการรวมให้เป็นก้อน การปั้นให้เป็นก้อน การหาเลี้ยงชีวิตหรือหมายถึงก้อนข้าว

 

 

ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตาจะมีประเพณีที่เรียกว่า “จูนโฎนตา” คือ บรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะกลับมาบ้าน มาไหว้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และจะนำเอามะพร้าว ข้าวสารเหนียว ขนมต่างๆ มามอบให้ หรืออาจมอบเงินด้วย เพื่อให้ท่านได้ใช้ทำบุญในประเพณีแซนโฎนตา หากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพและมอบข้าวของเงินทองให้ หรือถ้าทำไม่ได้ก็จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปถวายพระที่วัดแทน เหมือนกับเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

 

 

ของเซ่นไหว้ที่สำคัญของประเพณีนี้คือ “ข้าวต้มมัด” หรือภาษาเขมรเรียกว่า “บายเบ็ณฑ์”  ซึ่งหมายถึงข้าวที่ปั้นเป็นก้อนเพื่อใช้ใส่บาตรพระ บ้างก็ว่าเป็นการทำตามพุทธประวัติที่นางวิสาขาปั้นข้าวมธุปายาสถวายพระพุทธเจ้าเป็นจำนวน 49 ก้อน  โดยบายเบ็ณฑ์จะเป็นการใช้ข้าวใหม่ที่เพิ่งออกรวงเป็นน้ำนม นำมาตำแล้วผสมด้วยนม ถั่ว งา น้ำตาล น้ำใบเตย เพื่อให้มีสีเขียวสวยงามและมีกลิ่นหอม แล้วทำให้สุกปั้นเป็นก้อนใส่พานเป็นรูปทรงกรวยคล้ายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ต่อมาบายเบ็ณฑ์อาจหมายความรวมถึงข้าวต้มมัดที่ชาวบ้านนิยมทำกันด้วย เป็นขนมที่ทำด้วยข้าวเหนียวผสมด้วยกะทิ ถั่ว กล้วย หรือส่วนผสมอื่นๆ แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น อาจห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อนหรือใบกล้วย  โดยเชื่อกันว่าข้าวเหนียวเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี.

 

 

ขอบคุณภาพ / จากเจ้าของภาพ – เรียบเรียง / สุทธิศักดิ์ สอนกล้า

About The Author