ข่าวท้องถิ่น

น่าอนุรักษ์!! ชาวช้างทำ ชฎาบวชนาคช้าง สืบสานวัฒนธรรมชาวกูย(คลิป)

พ่อเฒ่า-แม่เฒ่าเมืองช้าง เร่งทำ ชฎาบวชนาคช้าง สืบสานวัฒนธรรมชาวกูย

วันนี้(10 ก.ค.61)ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์รายงานว่า ที่วัดป่าอาเจียง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เหล่าบรรดาพ่อเฒ่า แม่เฒ่า และชาวบ้าน ต่างมาช่วยกันด้วยจิตอาสากว่า 10 คน ร่วมมือกันทำชฎา หรือกระโจมนาค ที่ทำจากไม้ไผ่และตกแต่งด้วยกระดาษสี ห้อยนุ่นไว้ด้านข้าง พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน และอีกหนึ่งสีสันที่สำคัญคือ พ่อทอง มาดี ยังนำเอาแคนคู่กาย มาเป่าเล่น และนางเจ๊ก ศาลางาม อายุ 65 ปี เป็นผู้ขับร้อง “ลำกลอน” เพื่อความบันเทิงของกลุ่ม สร้างสีสันในการทำงานได้อย่างดี

พิธีปลงผมนาค และพิธีทำขวัญ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของนาคตามแบบประเพณีบวชนาคช้างของชาวกูยที่มีมาแต่โบราณนั้น จะเน้นให้มีสีสันสดใส จะเว้นอยู่สีเดียวคือสีดำ และเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแต่ละชิ้นนั้นก็ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและแตกต่างกันออกไปอีก นาคจะต้องแต่งหน้าทาปาก นุ่งโสร่งสวมเสื้อขาวสว่าง คลุมผ้าสี และสวมกระโจมนาคหรือชฎานาค ซึ่งแต่ละชิ้นนั้นก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ “ผ้าหลากสี” เปรียบดังแสงรุ้ง 7 สีของผู้มีบุญวาสนา “เสื้อสีขาวสว่าง” คือการไม่หมกมุ่นในที่มืด และ “กระโจมนาค” หรือ “ชฎานาค” ที่ทำจากไม้ไผ่และตกแต่งด้วยกระดาษสี ห้อยนุ่นไว้ด้านข้างนั้น มีความหมายว่า ยอดที่แหลมเปรียบดั่งสมองอันหลักแหลมในการศึกษาพระธรรม กระดาษสีเปรียบดั่งความเปลี่ยนแปลงของแสงสี ไม่ให้เราหลงละเลิงไปกับมันเพราะทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และ “นุ่น” ที่ห้อยไว้ด้านข้างของกระโจมนาค ถูกใช้แทนต่างหู เปรียบได้ว่าอย่าได้เป็นคนหูเบา อีกทั้งยังมีเครื่องประดับอื่นๆ อีกเช่น สังวาล, ตรึม, กำไล (เครื่องประดับโบราณ) ซึ่งปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นได้สูญหายไปหมดแล้ว จึงมีการใส่สร้อยทองแทน ในส่วนของปะรำทำขวัญนาค ก็จะมีบายศรี กรวยบวงสรวงเจ้าที่ เครื่องบวงสรวงต่างๆ เช่น ข้าวต้มมัด 8 คู่ ไก่ต้ม เหล้า เป็นต้น ซึ่งในขณะประกอบพิธีทำขวัญนาคนั้น นาคเจ้าภาพและนาคเพื่อน จะต้องถือเคียวและเต้าปูนไว้ตลอดพิธีสู่ขวัญด้วย ซึ่งเคียวมีความหมายคือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเต้าปูน คือความหนักแน่น อีกทั้งบาตรก็จะมีการตกแต่งให้เป็นรูปม้า ซึ่งจะหมายถึง ม้ากัณฐกะ พาหนะที่สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงใช้เดินทางไปแม่น้ำอโนมานและทรงปลงผมที่แม่น้ำแห่งนั้น

(คลิปประกอบข่าว)

นายธวัชชัย ศาลางาม อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้านหนองบัว ต.กระโพ อ.ท่าตูท จ.สุรินทร์ เล่าว่า วันนี้เหล่าบรรดาพ่อเฒ่า แม่เฒ่า และชาวบ้าน ต่างมาช่วยกันด้วยจิตอาสากว่า 10 คน ร่วมมือกันทำชฎา หรือกระโจมนาค เพื่อจะเข้าสู่พิธีการบวชนาคในโครงการของวัดป่าอาเจียง มีจิตอาสาอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป และเป็นการรักษามรดกวัฒนธรรมการบวชนาคของชาวกวย ทั้งหมดเราจะทำจากไม้ไผ่ ค่อยๆ เหลา ค่อยๆ ทำ แล้วก็สานเหมือนสานตะกร้า แล้วมาใส่เป็นชฎา ส่วนยอดชฎาก็จะแหลม แล้วจะมีหูที่ใหญ่ ติ่งหูที่เป็นสำลี บ่งบอกว่า การทำชฎาก็เพื่อให้พระที่จะบวชใหม่ หรือนาคที่จะบวชใหม่ มีใบหูที่ใหญ่ เป็นติ่งหูที่หนัก คือให้พระหรือนาคที่บวช รู้คำว่าหูหนักอย่าหูเบา และหูใหญ่คือ ฟังให้มาก ส่วนข้างบนแหลมคือ เป็นผู้มีปัญญา ส่วนการทำชฎามันต้องใช้จิตอาสาจริงๆ เพราะแต่ละอันให้เวลาทำนานมาก ในตลาดไม่มีชฎาขาย เราต้องทำเอง เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไว้ ให้ยั่งยืนและยืนยาวต่อไป.

ภาพ – ข่าว / สมศักดิ์ ตระกูลสุข – สุทิต บุญยืน – วรรณา ศาลางาม – สุทธิศักดิ์ สอนกล้า ผู้สื่อข่าวสุรินทร์นิวส์

Leave a Comment