ข่าวท้องถิ่น

แบบอย่างที่ดี อย่าพลาดโอกาส รู้เร็วรู้ไวหายไว โรคมะเร็งหายได้

โชว์เก๋า แบบอย่างที่ดี สาธารณสุขอำเภอสนม ออกโรงเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

เมื่อวันที่ (7ก.พ.61) ผู้สืบข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแคน บริการตรวจมะเร็งปากมดลูกให้สตรีอายุ 30-60 ปี ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.สต. ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่ง นางนพรัตน์ ตรงศูนย์ หัวหน้าสาธารณสุขอำเภอสนม ก็ได้รับเข้าตรวจมะเร็งปากมดลูก ในครั้งนี้ด้วย

ผู้สืบข่าวจึงติดต่อสอบถาม นางนพรัตน์ ตรงศูนย์ สาธารณสุขอำเภอสนม ในการเข้ารับตรวจมะเร็งปากมดลูก ในครั้งนี้ นางนพรัตน์ ตรงศูนย์ กล่าวผู้สืบข่าวว่า เราเองก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหญิงอายุ 30-60 ปี ที่ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแคน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์

เช่นกัน ถึงเราจะเป็นข้าราชการในเขตสนม แต่เราก็เป็นประชาชนในเขตพื้นที่ เราเป็นข้าราชการก็ควรเป็นผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย ทำให้คนอื่นไว้วางใจด้วย เราจึงเข้ารับกาตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear)เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทีมหมอครอบครัว รพ.สต. ในเขตพื้นที่อำเภอสนม ที่ รพ.สต ต.แคน อ.สนม จ.สุรินทร์

ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคลากรและประชาชน ประหยัดทั้งเงินประหยัดทั้งเวลา ทีมงานตรวจหน้าตาดี มีมาตรฐานและคุณภาพ พร้อมบริการประชาชน วันนี้มีผู้มาใช้บริการ 101 ราย หลังจากการตรวจแล้วก็จะส่ง lap ให้ รพ.สุรินทร์ จากนั้นก็รอผลการตรวจไม่เกินหนึ่งเดือน และน้องๆ ก็จะแจ้งผลถึงบ้านโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปฟังผล หากผิดปกติก็จะได้รับการดูแลรักษาต่อทันที เป็นการช่วยเหลือประชาชน

นางนพรัตน์ ตรงศูนย์ สาธารณสุขอำเภอสนม กล่าวต่อผู้สืบข่าวว่า อยากฝากสื่อท้องถิ่นช่วยกระจายข่าวและประชาสัมพันธ์ ให้ผู้หญิงเข้ารับตรวจมะเร็งปากมดลูก ภายใน 5 ปี ควรได้ตรวจสัก 1 ครั้ง ไม่ต้องอายเพราะผู้หญิงตรวจให้ทั้งนั้น และไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรด้วย มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทยมีผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณ 7,000 ราย

ส่วนใหญ่พบเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี แต่เราจะเริ่มตรวจ 30-60 ปี ปัญหาของโรคมะเร็งปากมดลูกคือ ผู้ที่เป็นมักไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะกลายเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว ซึ่งยากต่อการรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถตรวจและสืบค้นได้ตั้งแต่เซลล์เริ่มผิดปกติ

การดำเนินโรคเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และปากมดลูกเป็นอวัยวะที่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ง่ายกว่าอวัยวะอื่น ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่จะเป็นมะเร็ง หรือก่อนที่จะเป็นมะเร็งระยะลุกลาม การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงสามารถช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก คือการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย มีคู่นอนหลายคน มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศ การสูบบุหรี่ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ ใช้ยากดภูมิต้านทาน การติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) เป็นต้น

การทำ Pap smear Pap smear สามารถทำได้ระหว่างการตรวจภายในที่ห้องตรวจโดยสูตินรีแพทย์ ใช้เพียงเวลา 1-2 นาที ในการเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดด้านในป้ายลงบนแผ่นสไลด์แก้ว ก่อนจะนำแผ่นสไลด์ส่งไปย้อมสีด้วยวิธีการเฉพาะแล้วให้พยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์

เมื่อผลการตรวจ pap smear รายงานผิดปกติ สูตินรีแพทย์ผู้ดูแลจะแปลผลรายงานพร้อมวางแผนการดูแลรักษา หรือการตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมแจ้งให้ผู้รับการตรวจทราบ เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดกับปากมดลูกมีหลาบแบบ คำแนะนำอาจแตกต่างกันออกไป เช่น บางรายอาจให้มารับยาปฏิชีวนะหรือยาเหน็บช่องคลอดแล้วนัดมาตรวจซ้ำภายหลัง บางรายอาจจำเป็นต้องนัดมาตรวจเพิ่มเติมด้วยกล้อง กล้อง Colposcope หรือกล้องส่องปากมดลูกเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจ และส่องดูรายละเอียดรอยโรคของปากมดลูก มีเลนส์ที่มีกำลังขยาย 6-40 เท่า

สำหรับดูการติดสีที่ผิดปกติ ขอบและความคมชัดของรอยโรค เส้นเลือดที่ผิดปกติบริเวณผิวของปากมดลูก (และช่องคลอด) เพื่อการวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องจำเพาะเจาะจง อันจะนำไปสู่การรักษาเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน

นางนพรัตน์ ตรงศูนย์ สาธารณสุขอำเภอสนม พูดทิ้งท้ายก่อนจบว่า อย่าพลาดโอกาส รู้เร็ว รู้ไว หายไว โดยทีมหมอครอบครัวอำเภอสนม ค่ะ

ภาพ/ข่าว / เรียบเรียง สมศักดิ์ ตระกูลสุข ข่าวสนมนิวส์ สุรินทร์

ข่าวสนมนิวส์

Leave a Comment