วิถีชุมชน

วิถีชุมชนคนอีสาน เล่นว่าวฤดูลมหนาว (ชมคลิป)

สุรินทร์-วิถีชุมชนคนอีสาน เล่นว่าวฤดูลมหนาว บอกดินฟ้าอากาศฤดูกาลข้างหน้าได้ ยังสร้างรายได้คนในชุมชน

ชาวอีสานมีความคุ้นเคยกับการเล่นว่าวมาแต่โบราณกาล เช่นเดียวกันกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเดิมนั้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะจัดทำว่าว เพื่อนำมาเล่นสร้างความบันเทิงไปพร้อมๆ กับการนวดข้าว

แต่ในปัจจุบันวิถีการดำรงชีพของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป เครื่องมือจักรกลการเกษตรได้เข้ามามีบทบาทสูง แรงงานในภาคเกษตรกรลดน้อยลง อีกทั้งความเป็นชุมชน ทำให้บริเวณลานกว้างที่จะเป็นสถานที่ให้เด็กวิ่งเล่นว่าวก็ถูกจำกัด จึงทำให้เราเห็นภาพการเล่นว่าวลดน้อยลงในตามท้องทุ่งนาและชนบททั่วไป

การเล่นว่าวทางภาคอีสานนั้น จะอยู่ในช่วงฤดูสั้นๆ ประมาณ 1-2 เดือน เท่านั้น โดยจะเริ่มในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ของทุกปี ปัจจุบันฤดูกาลอากาศไม่แน่นอน อาจเล่นได้ถึงเดือน ม.ค.-ก.พ. ก็มี เพราะช่วงนี้ มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลมบน” และต้องเล่นว่าวในยามค่ำคืนในช่วงเวลาตั้งแต่ 5 โมงเย็น เรื่อยไปจนถึงสว่างประมาณ ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า ลมว่าวก็จะหมดลง

โดยการเล่นว่าวของคนอีสานส่วนมากจะมีการเล่นที่แฝงไว้กับจุดมุ่งหมายเกี่ยว กับการบวงสรวง หรือการเสี่ยงทาย ซึ่งมักจะมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของความเชื่อกับการพยากรณ์ การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร

สำหรับชาวบ้านหัวนา หมู่ 7 ต.นานวน อ.สนม จ.สุรินทร์ คือ นายยุทธกิจ จิตหนักแน่น อายุ 40 ปี และนายสมบัติ ศรีนิล อายุ 60 ปี กำลังเล่นว่าวแอกโบราณ ซึ่งเป็นว่าวที่ใช้วัสดุทำตัวโครงว่าวจากไม้ไผ่ ใช้กระดาษปิดเป็นตัวว่าว มีขนาดของตัวปีก 2.50 -3 เมตร

การทำและการเล่นว่าวแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันตามคตินิยมที่นับถือและตกทอดมาจากบรรพชน เช่นภาคอีสาน นิยมเล่นว่าวแอก ว่าวอีลุ้ม ว่าวจุฬาอีสาน เป็นต้น ภาคใต้นิยมเล่นว่าวปลา ว่าวเดือน ว่าวหน้าควาย ว่าวจุฬาเป็นต้น

ส่วนภาคกลางนิยมเล่นว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวงู และว่าวประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์หรือรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทยที่มักจะพบเห็นอยู่เสมอคือว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า แต่รูปแบบอาจแตกต่างกันบ้าง ถือได้ว่า ว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า เป็นสัญลักษณ์ของว่าวไทยก็ว่าได้

นายสมบัติ ศรีนิล อายุ 60 ปี ชาวบ้านหัวนา กล่าวว่า สมัยก่อนนิยมเล่นว่าวกันเยอะ กาวติดจะใช้ยางมะตูม ข้าวหนาวติด แต่ปัจจุบันมีกาวสำเร็จรูป กาวมะตูมหายากไม่มีแล้ว มีแต่ว่าวนี่แหละเป็นของดังเดิมตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ทำกันมา พาทำก็ทำสืบสาน กันไปเรื่อยๆ ของประเพณีอีสานเคยสร้างเคยทำ คนเฒ่าคนแก่พาทำ

ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะทำว่าว วิ่งดูฟ้าดูฝนว่าปีหน้าจะดีไหมคนสมัยนั้นพาคิดพาทำ มันก็ดีทุกปีนะ ถ้าเล่นว่าวตอนหัวค่ำถึงตอน 6-8 โมงเช้าว่าวไม่ลงทายว่าฝนดี การเล่นว่าวก็สามารถทำนายฟ้าฝนได้เช่นกิน นายสมบัติ ศรีนิล ไม่ใช่ทำเล่นอย่างเดียว ยังทำขายคนในชุมชนบ้านหัวนา และขายให้คนตำบลใกล้เคียงด้วย

หารายได้เสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวได้ดีทีเดี่ยว นายสมบัติ ศรีนิล จะทำว่าวอยู่ 2 แบบ คือ ว่าวจุฬา และว่าว 2 พี่น้อง เรียกอีกอย่างว่า ว่าวแอก ซึ่งจะมีธนูด้วย ขนาด 2.5 เมตร ขายในราคา 300-500 บาท พร้อมธนูหรือแอก ซึ่งนายสมบัติ ศรีนิล

หลังจากทำเสร็จก็จะลองวิ่งดูว่าใช้งานได้หรือไม่ บางทีคนที่ผ่านไปผ่านมาเห็นต้องการซื้อตัวว่าวที่ปล่อยขึ้นไปก็จะให้เลย นายสมบัติกล่าวต่ออีกว่า แค่ทำเป็นงานอดิเรกสืบสานวัฒนธรรมอีสานบ้านเราให้คงอยู่การเล่นว่าว ใครมาซื้อก็ขายเพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทาง

ภาพ/ข่าว สมศักดิ์ ข่าวสนมนิวส์

ข่าวสนมนิวส์

Leave a Comment