ประชาสัมพันธ์

กระทรวงดิจิทัล ชี้ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ไม่คุกคามสิทธิ์ ปชช.ทั่วไป

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ยุคใหม่

ที่อาจส่งผลกระทบความเสียหายต่อระบบเครือข่ายความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนคุ้มครองข้อมูลของประชาชน ความเสี่ยงที่อาจเกิดภัยคุกคามในไซเบอร์ เช่น ไวรัส มัลแวลร์ การโจมตีจากอาชญากรรมทางไซเบอร์

ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กับตัวบุคคล เพราะความผิดส่วนนั้น มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ บังคับใช้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องข้อกังวล ในมาตรา 59 ที่เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤต

โดยเฉพาะภัยคุกคามที่อาจ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ที่มีการตีความว่า อาจถูกโยงเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง

เช่น หากบุคคลใดบุคคลหนึ่งวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือวิจารณ์บุคคลอื่น รวมไปถึงบุคคลที่ 3 ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

นางสาวอัจฉรินทร์ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะนิยามภัยคุกคามทางไซเบอร์ คือ การกระทำที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรม,ระบบคอมพิวเตอร์

หรือโครงข่ายโทรคมนาคมส่วนตัวบุคคล มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควบคุมอยู่ โดยมีข้อกังวลอย่างน้อย 8 ข้อ ที่แฟนเพจโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว เขียนไว้

เช่น นิยามภัยคุกคามไซเบอร์ตีความได้กว้าง ครอบคลุม ‘เนื้อหา’ บนโลกออนไลน์ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถขอข้อมูลจากใครก็ได้เพื่อประโยชน์ในการทำงาน กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ยึด-ค้น-เจาะ-ทำสำเนา

คอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือเมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ร้ายแรงขึ้นไป เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสอดส่องข้อมูลได้แบบ Real-time ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน

เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล การใช้อำนาจยึด ค้น เจาะ หรือขอข้อมูลใดๆ ไม่สามารถอุทธรณ์เพื่อยับยั้งได้

หรือ เมื่อมีภัยคุกคามไซเบอร์ระดับวิกฤติ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้ใดฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก

นายปริญญา หอมเอนก ในฐานะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อธิบายว่า ข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันออกไปเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็นไม่ถูกต้อง

โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปตรวจค้น จับกุม ยึดอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล เป็นประเด็นที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

เพราะในร่างกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการใดๆโดยไม่มีหมายศาลได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตเท่านั้น

ซึ่งมีคำนิยามชัดเจน เช่น มีคนล้มตายจำนวนมาก ระบบข้อมูลของรัฐ สนามบิน หรือระบบของธนาคารล่มทั้งหมด ซึ่งจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเข้าไประงับเหตุก่อน จึงมีหมายศาลตามมา.

ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์

Leave a Comment