นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี ยื่นหนังสือ แนวทางออก กรณีพิพาทค่าโง่สัมปทานทางด่วน เพื่อชาติ ประชาชน ต่อ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากรณีพิพาทค่าโง่สัมปทานทางด่วน
วันที่ 6 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี ผู้ประสานงานคณะราษฎรไทยแห่งชาติ ได้เดินทางยื่นเรื่องเสนอความคิดเห็นเสนอแนวทางออก กรณีพิพาทค่าโง่สัมปทานทางด่วน เพื่อชาติ ประชาชน ต่อ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากรณีพิพาทค่าโง่สัมปทานทางด่วน
โดย นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี เปิดเผยว่า ตามที่มีปรากฎเป็นข่าวที่ bem มีการฟ้องร้อง กทพ ต่อศาลปกครอง และ กรณีอนุญาโตตุลาการชี้ว่า กทพ.แพ้คดี รวมทั้งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ กทพ.แพ้คดี และยังมี เรื่องที่bem ฟ้อง ในศาลอีกหลายคดี ตามที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ได้นำเสนอข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นที่ทราบแล้ว
ซึ่งตามข่าว ดร.สามารถ ย้ำว่า BEM ได้ร่วมทำงานกับการพิเศษฯ มาตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา และในการร่วมงานก็มีเหตุข้อพิพาทเกิดขึ้น 7 ข้อ แยกเป็นข้อพิพาทที่เกิดจาก 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย (1) การขึ้นค่าทางด่วน ซึ่ง BEM กล่าวหาการทางพิเศษฯ ว่าขึ้นค่าทางด่วนต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา (2) มีการต่อขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์มาแข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ทำให้บีอีเอ็มได้รับรายได้จากค่าทางด่วนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ (3) การทางพิเศษฯ กล่าวหา BEM ว่าไม่ขยายช่องจราจรบนทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ ข้อพิพาททั้งหมด สมควรหรือไม่ที่การทางพิเศษฯต้องยินยอมตามข้อเสนอของ BEM ดร.สามารถ ระบุชัดเจนว่า ข้อพิพาททั้งหมด มีเพียงข้อพิพาทเดียวเท่านั้นที่ได้ข้อยุติแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดีและให้จ่ายเงินชดเชยให้ BEM เป็นจำนวน 4,318.4 ล้านบาท สืบเนื่องจากมีการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิตมาเป็นคู่แข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ส่วนข้อพิพาทที่เหลืออีกจำนวน 16 ข้อพิพาท เป็นข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลปกครองจำนวน 3 ข้อพิพาท ขั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 9 ข้อพิพาท และข้อพิพาทที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจำนวน 4 ข้อพิพาท
ไฮไลต์ที่เป็นปัญหาก็คือ มีการประเมินโดยผู้เกี่ยวข้องในการทางพิเศษฯ ว่าในจำนวนข้อพิพาทที่เหลือ 16 ข้อพิพาท มีเพียง 2 ข้อพิพาทเท่านั้นที่การทางพิเศษฯ จะชนะคดี ส่วนที่เหลืออีก 14 ข้อพิพาท การทางพิเศษฯจะแพ้ทั้งหมด ทำให้การทางพิเศษฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็มเพิ่มขึ้นอีก 133,197.2 ล้านบาท รวมเป็น 137,515.6 ล้านบาท ต่อมามีการเจรจาต่อรองทำให้เงินชดเชยลดลงเหลือ 64,953 ล้านบาท หรือลดลงถึง 53% ดังนั้นหากการทางพิเศษฯ ไม่ต้องการจ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็ม การทางพิเศษฯ จะต้องขยายเวลาสัมปทานให้ BEM แทน ซึ่งจะต้องขยายให้ถึง 37 ปี มาถึงเวลานี้ลดลงเหลือ 30 ปี โดยอ้างว่า BEM ยอมลดเงินชดเชยให้อีก ทำให้เหลือเงินชดเชย 59,853 ล้านบาท
ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ โดยข้อเท็จจริงแล้ว ณ วันนี้ การทางพิเศษฯ แพ้คดีแน่นอนแล้วเพียง 4,318.4 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการคาดการณ์เอาเอง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เงินชดเชยทั้งหมด 59,853 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินชดเชยที่การทางพิเศษฯ จำเป็นต้องชดใช้ให้กับ BEM เพียง 4,318.4 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นการคาดการณ์ว่าการทางพิเศษฯ มีโอกาสจะแพ้คดี ซึ่งถ้าคิดในทางตรงข้าม หากไม่เป็นไปตามคาดการณ์ หรือการทางพิเศษฯ ชนะคดีเพิ่มขึ้น การต่อสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นเวลาถึง 30 ปี จะทำให้การทางพิเศษฯ เสียเปรียบอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ กรณีนี้บอร์ดการทางพิเศษฯก็ไม่ได้เห็นชอบกับแนวทางที่เป็นมติให้ขยายอายุสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 30 ปี เพราะเห็นว่า ไม่ควรนำหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้นมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ และทำไมบอร์ดเสียงส่วนใหญ่จึงให้น้ำหนัก คิดไปก่อนหน้าว่าการทางพิเศษฯจะแพ้คดี เลยยอมทำตามเงื่อนไขของ BEM ซึ่งก็เป็นประเด็นน่าค้นหาว่าเป็นเพราะเหตุใดถึงไม่คัดค้าน
นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้าพเจ้า คณะราษฎรไทยแห่งชาติ ครช.ในฐานะส่วนขับเคลื่อนภาคประชาชน และในฐานะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อการตัดสินใจ จัดการ ในกรณีดังกล่าว ได้ขอนำเสนอความเห็นต่อกรณี คดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว มีช่องทางยื่นคำขอให้ให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ได้ ตาม พรบ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฯ
Leave a Comment