วิถีชุมชน

ลงแขกตากข้าว ชาวนาอีสานบ้านเฮา ช่วยลดรายจ่าย สร้างสัมพันธ์คนในชุมชน (มีคลิป)

DCIM\100MEDIA\DJI_0009.JPG

สุรินทร์-ลงแขกตากข้าว ชาวนาอีสานบ้านเฮา ช่วยลดรายจ่าย สร้างสัมพันธ์คนในชุมชน

วันนี้ (21 พ.ย.62) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ลงพื้นที่บ้านหนองคูน้อย ต.เมืองแก  อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์  พบชาวบ้านกำลังช่วยกันตากข้าว เกลี่ยข้าวในบริเวณสนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านหนองคูน้อย

โดยใช้ผ้าแยงสีฟ้าผืนยาวปูเต็มสนามฟุตบอลแล้วเอาข้าวที่เกี่ยวโดยรถเกี่ยวข้าวแล้วนำมาตากให้แห้ง ก่อนที่จะเก็บขึ้นยุ้ง  เพื่อเก็บไว้ทำพันธุ์และไว้กินในครอบครัว  ช่วงที่ข้าวราคาดีก็แบ่งขายบ้างตามความจำเป็น 

DCIM\100MEDIA\DJI_0011.JPG

บรรยากาศการลงแขกจากข้าวของชุมชนบ้านหนองคูน้อย มีการพูดคุย ตกลงกันเรื่องคิวเกี่ยวข้าว ตั้งแต่ข้าวเริ่มสุก เมื่อเจ้าแรกลงเกี่ยวทุกคนจะไปช่วยกันเก็บข้าวตามมุมที่รถเกี่ยวข้าว เกี่ยวไม่หมด ช่วยกันนำมาตากจนกระทั่งกรอกข้าวแบะเก็บขึ้นยุ้งทำทุกกนะบวนการแบบนี้จนครบทุกเจ้า  ส่วนอาหารการกินทุกคนก็ช่วยกันนำมาคนละอย่าง 2 อย่างมาประกอบอาหารกินด้วยกัน กลุ่มผู้ชายมานอนเฝ้าข้าวตากด้วยกัน พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน

จากการสอบถามนายสุนทร   ธรรมนาม  อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองคูน้อย ได้ความว่า ชุมชนบ้านหนองคูน้อยมีการฟื้นฟูประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าวมา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ตนเองยังเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่  มีการพูดคุยกันถึงปัญหาที่ชาวนาขาดทุนจากการทำนา เพราะลงทุนสูง ราคาข้าวตกต่ำ  จึงได้ตกลงกันว่าจะฟื้นฟูประเพณีลงแขกตากข้าว

โดยในปีแรกก็มีสมาชิกประมาณสิบกว่าคน  เมื่อมาดูค่าใช้จ่ายพบว่าสามารถลดรายจ่ายได้พอสมควรที่สำคัญจะทำให้ได้ความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดาเพื่อนบ้านที่มาร่วมลงแขกตากข้าวด้วย จึงได้มีการทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆทุกปี จนกระทั่งครบปีที่ 10 ในปีนี้ จำนวนสมาชิกก็เพิ่มขึ้นทุกปี ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีมาก  ระหว่างที่รอเกลี่ยข้าวก็สามารถนั่งประชุมกัน คุยกัน ปรึกษาหารือกันได้ ทำให้ชุมชนบ้านหนองคูน้อยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน ชาวบ้านมีความสามัคคี พร้อมเพรียงกัน

นางพรทิพย์  กะการดี  เจ้าของข้าวที่ตากเสร็จแล้วพร้อมเก็บในวันนี้ ได้กล่าวว่า ตนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากสามีเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว มีลูกสาว 2 คน คนโตทำงานอยู่กรุงเทพฯ คนเล็กเรียนอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ตนยังต้องทำนาทุกปี

เพราะเป็นอาชีพที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  โชคดีที่มีประเพณีลงแขกตากข้าว ทำให้ลดภาระของตนเองไปได้มาก ทำนาแบบไม่รู้สึกเหนื่อย แต่กลับรู้สึกสนุก ลูกๆไม่ต้องมาช่วยก็สามารถทำนามีข้าวขึ้นยุ้งเหมือนเพื่อนบ้านคนอื่นๆ รู้สึกว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ

ในแต่ละวันจะได้เสียเงินแค่ค่าเครื่องดื่มและเครื่องดื่มชูกำลังเพียงไม่กี่บาท ส่วนอาหารทุกคนก็เตรียมมาทั้งวัตถุดิบและอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วมากินด้วยกัน อยากให้มีประเพณีลงแขกตากข้าวต่อไปทุกปี

ภาพ/ข่าว นายสมุทร สนิทพันธ์ / เรียบเรียง สมศักดิ์ ตระกูลสุข ข่าวสนมนิวส์

ข่าวสนมนิวส์

Leave a Comment